เบื้องหลังการนอนหลับ: ความสำคัญของการหลับแบบ REM

7508 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เบื้องหลังการนอนหลับ: ความสำคัญของการหลับแบบ REM

วงจรการหลับประกอบด้วยการหลับ 4 ระดับ การหลับแบบไม่มีการกลอกนัยน์ตา (Non-rapid eye movement sleep) หรือ NREM ครอบคลุมการหลับใน 3 ระดับแรก ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การหลับตื้นเมื่อเริ่มหลับ จนกระทั่งเข้าสู่การหลับลึก การหลับแบบ Rapid eye movement หรือ REM เป็นการหลับในระดับที่ 4 ซึ่งเป็นระดับสุดท้ายของวงจรการนอนหลับ ถ้าเช่นนั้นแล้วการหลับแบบ NREM กับ REM แตกต่างกันอย่างไร และเหตุใด REM จึงมีความสำคัญ?

 

  การหลับแบบ REM คืออะไร?
การหลับในระดับที่ 3 คลื่นสมองในขณะหลับจะมีลักษณะกว้างและมีความถี่ต่ำ (จึงเรียกการหลับระดับที่ 3 ว่า slow wave sleep) แต่เมื่อเข้าสู่การหลับระดับที่ 4 คลื่นสมองจะมีลักษณะแคบและมีความถี่สูง ถึงแม้ร่างกายจะไม่ขยับเขยื้อนแต่สมองกลับมีความตื่นตัวเทียบเคียงได้กับขณะตื่น ในขณะหลับแบบ REM นี้ สมองจะใช้พลังงานเท่ากับ หรือบางครั้งอาจมากกว่าสมองขณะตื่น

 

  เกิดอะไรขึ้นบ้างในขณะที่เราหลับแบบ REM?
ลักษณะเฉพาะของการหลับแบบ REM คือจะมีการกลอกของนัยน์ตาขณะหลับ และเกิดฝันที่มีความชัดเจน เป็นฝันที่จดจำได้รายละเอียดได้มากและนานเสมือนเรื่องที่เกิดขึ้นจริง จึงแตกต่างจากฝันในการหลับระดับ 3 ในช่วงการหลับแบบ NREM ซึ่งจะคลุมเครือไม่ชัดเจน ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการกลอกของนัยน์ตานั้นเกิดขึ้นเพื่ออะไร แต่อนุมานได้ว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการฝัน แม้ผู้ผู้ที่ตาบอดแต่กำเนิดก็มีการกลอกนัยน์ตาในขณะหลับระดับที่ 4 หรือ REM sleep เช่นเดียวกับผู้ที่ตาปกติ หรืออาจเป็นไปได้ว่าการกลอกนัยน์ตาเป็นเพียงผลข้างเคียงของการทำงานของสมองที่กำลังประมวลความจำที่มีความสัมพันธ์กับการมองเห็นของตา

 

  เหตุใดการหลับแบบ REM จึงมีความสำคัญ?
การหลับแบบ REM เป็นความจำเป็นยิ่งยวดต่อความต้องการทางสรีรวิทยาของร่างกาย ซึ่งหากขาดไปเสียแล้วจะเป็นอันตรายต่อการมีชีวิตรอดของสิ่งมีชีวิต และถ้ามีสภาวะขาดการหลับแบบ REM เป็นเวลานานๆ ก็อาจนำไปสู่ความตายได้ เชื่อกันว่าการหลับแบบ REM สำคัญสำหรับพัฒนาการของสมอง เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่แล้ว ทารกและเด็กจะใช้ระยะเวลาหลับแบบ REM ต่อเวลานอนทั้งหมดมากกว่าผู้ใหญ่อย่างมีนัยยะสำคัญ มีทฤษฎีว่าการหลับแบบ REM ช่วยสมองที่กำลังพัฒนาสร้างการเชื่อมต่อของระบบประสาท การหลับแบบ REM ไม่เพียงพอในทารกหรือเด็กจะนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรม ปัญหาความผิดปกติด้านการนอนอย่างถาวร และมวลสมองหดตัว นอกจากนั้นยังทำให้ประสิทธิภาพในการจดจำลดลงด้วยในทั้งเด็กและผู้ใหญ่

 

Hobson, J., Pace-Schott, E., & Stickgold, R. (2000). Dreaming and the brain: Toward a cognitive neuroscience of conscious states. Behavioral and Brain Sciences, 23(6), 793-842.
Parmeggiani, P. L. (2011). Systemic homeostasis and poikilostasis in sleep: Is REM sleep a physiological paradox?. World Scientific.
Rasch, B., & Born, J. (2013). About Sleep’s Role in Memory. Physiological Reviews, 93(2), 681-766.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้